|
โรคพยาธิหัวใจในสุนัข (Heart Worm Disease in Dogs)
|
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากหนอนพยาธิชนิด Dirofilaria immitis พยาธิตัวเต็มวัยมักพบที่หลอดเลือดปอด และหัวใจด้านขวา ส่วนตัวอ่อนของพยาธิจะล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในให้ผิดปกติตามเช่น หัวใจ, ปอด, ตับ และไต
มีรายงานครั้งแรกปี1626 ที่ประเทศอิตาลี พบการกระจายตัวของพยาธิเกือบทุกมุมโลก แม้แต่ที่ขั้วโลกเหนือ เชื้อสามารถติดต่อกันได้ในสัตว์ตระกูลสุนัข และแมวเกือบ 30 ชนิด เช่น เฟอร์เรท, แมวน้ำ, สิงโตทะเล และเคยตรวจพบการติดโรคในคนด้วย
|
การติดต่อ มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยยุงจะดูดเอาตัวอ่อนของพยาธิระยะแรกเข้าไปพร้อมกับเลือดสุนัขที่เป็นโรค ตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 จะฟักในตัวยุงประมาณ 8-10 วันที่อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมประมาณ 30oc จากนั้นยุงจะปล่อยตัวอ่อนระยะที่3 เข้าสู่สุนัขผ่านทางแผลผิวหนังที่ถูกกัด แล้วตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการเจริญเป็นตัวเต็มวัยและเข้าไปอาศัยอยู่ในหัวใจ สามารถแพร่พันธุ์ได้ใน 6-7 เดือนหลังจากวันที่เริ่มติดโรค และอาศัยอยู่ในตัวสุนัขได้นาน 5-7 ปี
|
การตรวจวินิจฉัย ทำได้จากการซักประวัติอาการ, การตรวจร่างกาย, การตรวจเลือดและปัสสาวะ, การเอ็กเรย์ และการทำอัลตร้าซาวด์หัวใจ
|
อาการป่วย แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ- ระยะแรก (Asymptomatic disease) สุนัขไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แต่ตรวจพบการติดโรคนี้จากการตรวจวินิจฉัยเช่น ตรวจเลือด
- ระยะที่ 2 (Moderate disease) มีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ ไอบ้างเล็กน้อย ผอมลง
- ระยะที่ 3 (Severe disease) สุนัขไอมาก หายใจลำบาก ไม่ค่อยมีแรง มักพบอาการท้องมาน หรือมีการบวมน้ำที่ขาหลัง
- ระยะที่ 4 (Caval syndrome) มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด เสียงหัวใจข้างขวาผิดปกติ ลิ้น และเหงือกซีดขาว เป็นลมหมดสติ หรืออาจเสียชีวิตเฉียบพลัน
|
การรักษา แบ่งออกเป็นการกำจัดพยาธิตัวเต็มวัย และการกำจัดพยาธิตัวอ่อน- การกำจัดพยาธิตัวเต็มวัย
- การฉีดยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย จะทำก็ต่อเมื่อสัตวแพทย์วางแผนในการฉีดยาและประเมินสภาพสุนัขแล้วว่าปลอดภัยพอ เพราะตัวพยาธิที่ตายมีผลทำให้ปอดอักเสบรุนแรง เกิดปอดล้มเหลวเฉียบพลัน สุนัขบางตัวอาจตายจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้ได้
- การรักษาตามอาการ มักจะถูกเลือกใช้ในกรณีสุนัขอายุมาก และมีข้อจำกัดทางสุขภาพ
- การผ่าตัดเพื่อเอาตัวพยาธิออก ทำในสุนัขที่ตรวจแล้วพบปริมาณพยาธิในหัวใจจำนวนมาก หรือในโรคพยาธิหัวใจระยะที่ 4
- การกำจัดพยาธิตัวอ่อน จะทำหลังจากกำจัดตัวเต็มวัยประมาณ 1 เดือน โดย
- การกินยาในขนาดกำจัดตัวอ่อน จะทำลายพยาธิตัวอ่อนได้หมดในครั้งเดียว แต่มักพบผลข้างเคียงจากตัวอ่อนที่ตายไปทำให้เกิดการอักเสบที่ปอด ตับและไตตามมา
- การกินยา หรือหยอดยาในขนาดป้องกันพยาธิหัวใจ ทำให้พยาธิตัวอ่อนค่อยๆตาย ลดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ตามมาได้มาก
การป้องกันพยาธิหัวใจควรเริ่มเมื่อสุนัขมีอายุ 6 สัปดาห์ มีหลายผลิตภัณท์ให้เลือกใช้ เช่นยากิน, ยาหยดหลัง หรือยาฉีด ซึ่งไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหนก็ควรจะใช้ต่อเนื่องกันทุกเดือนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค
|
|