Exotic pets
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสุนัขและแมว
เนื้องอกและมะเร็ง
ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต
ระบบประสาท
ระบบสืบพันธุ์
โรคกระดูกและข้อ และกายภาพบำบัด
โรคตาในสัตว์เลี้ยง
โรคที่สำคัญในแมว
โรคผิวหนัง
โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคระบบทางเดินปัสสาวะในแมว
ภาวะไตวายเรื้อรัง
นิ่วในสุนัข
โรคอื่นๆในสัตว์เลี้ยง
อุปกรณ์การแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย
 
ภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Failure)
          นอกจากไตเป็นอวัยวะที่กรองของเสีย และขับของเสียออกจากร่างกายแล้ว ไตยังเป็นอวัยวะที่ช่วยผลิตฮอร์โมนในการผลิตเม็ดเลือดแดง ควบคุมความดันโลหิต และควบคุมระดับเกลือแร่ต่างๆในร่างกาย ภาวะไตวายเรื้อรัง (chronic renal failure) จึงหมายถึงการที่ไตไม่สามารถทำงานดังที่กล่าวได้เป็นปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจหมายถึงเป็นเดือน หรือเป็นปีขึ้นไป และอาจไม่สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้อีกถ้าหากไม่รีบทำการรักษา

          เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับไต ไตส่วนที่ยังไม่เสียหายจะทำงานทดแทนส่วนที่เสียหายไป และจะเริ่มแสดงความผิดปกติก็ต่อเมื่อไตเสียหายไปมากกว่า 75-80% และหากไม่ได้รับการแก้ไขไตจะเสียหายถาวร แต่หากได้รับการรักษาอาจช่วยชะลอความเสียหายที่อาจลุกลามไป และทำให้ไตที่เสียหายไปแล้ว(บางส่วน) กลับมาทำงานเป็นปกติได้
อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร ?
          เมื่อไตเริ่มทำงานผิดปกติ จะทำให้เกิดของเสียสะสมในร่างกายมากขึ้น แมวจะเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร ซึม อ่อนเพลีย อาเจียน เมื่อตรวจเลือดจะพบค่า Creatinine ซึ่งเป็นค่าที่บ่งชี้ถึงการทำงานของไต และค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ซึ่งคือค่าของเสียที่ร่างกายจะต้องขับออกจะสูงขึ้นกว่าปกติเนื่องจากไตทำงานได้น้อยลงจึงไม่สามารถขับ urea nitrogen ออกไปจากร่างกายได้ แมวจะเริ่มปัสสาวะมากขึ้น (ทั้งปริมาณ และความถี่) ปัสสาวะจะใสผิดปกติเพราะไตไม่สามารถปรับความเข้มข้นของปัสสาวะให้ตรงกับสภาพร่างกายได้ แมวจะเริ่มมีสภาพขาดน้ำ ตัวเหี่ยว ทานน้ำมากขึ้น เสียเกลือแร่ และวิตามินที่ละลายในน้ำไปกับปัสสาวะ แมวจะอ่อนเพลียมากขึ้น อาเจียนบ่อย ไม่มีแรง มีกลิ่นปากรุนแรงเป็นกลิ่นแอมโมเนีย มีแผลเปื่อยในช่องปากรวมถึงในกระเพาะ และลำไส้ อุจจาระจะเป็นสีดำเนื่องจากมีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เริ่มมีภาวะโลหิตจางเนื่องจากขาดฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดง ความดันโลหิตสูง จากนั้นบางรายอาจเริ่มมีอาการชัก และเสียชีวิตในที่สุด
จะแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไร ?
          ส่วนใหญ่ภาวะไตวายเรื้อรังที่เกิดจากไตเสื่อมจะพบในแมวที่เริ่มอายุมาก อายุเฉลี่ยที่พบคือ 9 ปี โดยปกติแล้วหากเกิดภาวะไตวายเรื้อรังอย่างถาวรแล้วจะไม่มีการรักษาที่ได้ผล ดังนั้นในระยะแรกที่ตรวจพบสัตวแพทย์จะเริ่มทำการรักษาโดยให้สารน้ำเข้าเส้นเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปที่ไต และให้สารน้ำช่วยขับของเสียออกจากร่างกายเพื่อลดความรุนแรงของโรค และช่วยไม่ให้ไตส่วนที่ยังไม่เสียหายต้องทำงานหนักจนเกินไปจนเกิดการเสียหายถาวรตามมา รวมถีงการให้ยารักษาอื่นๆตามอาการเช่น ยาแก้อาเจียน ยาลดความดัน เป็นต้น หากยังเป็นไตวายในระยะแรกเริ่ม และแมวยังไม่มีอาการผิดปกติมากนัก อาจให้สารน้ำเข้าใต้ผิวหนังแทนการให้เข้าเส้นเพื่อความสะดวกของเจ้าของ และตัวสัตว์ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ค่าเลือดอาจกลับลงมาอยู่ในระดับปกติโดยใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือนขึ้นกับอาการแรกเริ่ม

          การประเมินผลการรักษา สัตวแพทย์จะนัดมาตรวจสุขภาพเป็นระยะ โดยการตรวจเลือดเพื่อเช็คการทำงานของไต ตรวจวัดระดับฟอสฟอรัสในกระแสเลือด วัดปริมาณเม็ดเลือดแดง ตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต หากเริ่มมีภาวะโลหิตจาง สัตวแพทย์จะฉีดฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนที่ไตผลิตเพื่อสร้างเม็ดเลือด รวมถึงคอยควบคุมระดับความดันโลหิตให้คงที่

          ในระยะยาวหลังจากอาการเริ่มดีขึ้น แมวควรได้รับอาหารที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดการทำงานของไต ควรเป็นอาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำและโปรตีนต่ำในระดับที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันจะมีอาหารสูตรรักษาโรคต่างๆซึ่งสัตวแพทย์จะเป็นผู้แนะนำอาหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายแมวได้ แมวโรคไตที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและตอบสนองต่อการรักษาจะสามารถมีสุขภาพที่ดีได้อีกอย่างน้อย 1-2 ปี
 
 
โรงพยาบาลสัตว์ศรีวรา
1325 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพ 10310
โทรศัพท์ 0-2530-7636-7 แฟกซ์ 0-2530-7633
Copyright © 2011 Sriwara Animal Hospital Co. ,Ltd. All rights reserved.