Exotic pets
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสุนัขและแมว
เนื้องอกและมะเร็ง
ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต
ระบบประสาท
ระบบสืบพันธุ์
โรคกระดูกและข้อ และกายภาพบำบัด
โรคตาในสัตว์เลี้ยง
โรคที่สำคัญในแมว
โรคผิวหนัง
โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคระบบทางเดินปัสสาวะในแมว
ภาวะไตวายเรื้อรัง
นิ่วในสุนัข
โรคอื่นๆในสัตว์เลี้ยง
อุปกรณ์การแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย
 
โรคระบบทางเดินปัสสาวะในแมว
โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว (FLUTD : Feline Lower Urinary Tract Disease)
          เป็นโรคที่เกิดกับกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ พบในแมวเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เนื่องจากท่อปัสสาวะของเพศผู้จะยาวกว่า และแคบกว่า แมวที่มีปัญหา FLUTD จะมีอาการปัสสาวะลำบาก เข้ากระบะทรายบ่อยมากแต่ปัสสาวะได้นิดเดียว หรือบางครั้งไม่มีปัสสาวะออกมาเลย ปวดเบ่ง บางครั้งปัสสาวะมีเลือดปน เลียบริเวณอวัยวะเพศบ่อยผิดปกติ โรคนี้พบได้ในแมวทุกช่วงอายุแต่พบได้บ่อยในแมวโตเต็มที่(อายุเฉลี่ยคือช่วง 4-5 ปี) แมวอ้วน และแมวที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปเที่ยวข้างนอก และแมวที่ชอบทานแต่อาหารเม็ดเป็นหลัก นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวแมวก็เป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคได้ เช่น จำนวนกระบะทรายไม่เพียงพอ หรือไม่ได้ทำความสะอาด การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ หรือมีสมาชิกใหม่ในบ้าน (ทั้งแมวและคน) ตลอดจนการเลี้ยงแมวรวมกันหลายตัว เหล่านี้มักทำให้เกิดความเครียดและมีผลโน้มนำให้เกิดปัญหาของระบบปัสสาวะตามมา
สาเหตุหลัก ที่พบได้บ่อยๆมีดังนี้
เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (Feline Idiopathic Cystitis:FIC)
          พบได้บ่อย โดยแมวจะมีอาการดังกล่าวข้างต้น แต่เมื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียด (เช่น x-ray, เพาะเชื้อ, ตรวจเลือด ฯลฯ) แล้วกลับไม่พบสาเหตุ หรือสิ่งผิดปกติ หากไม่มีการอุดตัน และแมวยังสามารถปัสสาวะเองได้ อาการเหล่านี้อาจหายไปเองได้ภายในเวลา 2-3 วันหรือเป็นสัปดาห์ แต่การรักษาจะช่วยบรรเทาอาการ และช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นใหม่ได้ สิ่งสำคัญที่ควบคู่ไปกับการรักษาก็คือ การระมัดระวัง และควบคุมปัจจัยที่จะส่งผลให้กลับมาเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งอาการ และกลไกการเกิดโรคนี้ค่อนข้างคล้ายโรคในมนุษย์ที่เรียก Interstitial cystitis

          ปัจจัยโน้มนำที่สำคัญได้แก่ ความเครียดต่างๆ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ดังนั้น การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ เปลี่ยนเจ้าของใหม่ เปลี่ยนชนิด และยี่ห้ออาหาร การมีสมาชิกเพิ่มในบ้าน สิ่งเล็กน้อยๆเหล่านี้อาจส่งผลให้แมวเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว(โดยเฉพาะตัวที่อ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ) แมวที่เริ่มแสดงอาการควรได้รับการดูแล และได้รับคำปรึกษาจากสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุและการแก้ไขตั้งแต่ต้น เพราะในบางรายที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจเกิดปัญหาการอุดตันหรือท่อปัสสาวะตีบแคบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบรุนแรง ไตวาย แทรกซ้อนเพิ่มขึ้นมาในที่สุด
นิ่ว
          พบได้เป็นอันดับรองลงมา นิ่วในแมวพบได้ 2 ชนิด คือ struvite และ calcium oxalate ซึ่งนิ่วชนิด struvite มักพบในรายที่มีการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะเรื้อรัง ปัสสาวะมีความเป็นด่างผิดปกติ หรือกินอาหารที่มีองค์ประกอบหรือแร่ธาตุชนิดเดียวกับนิ่วมากกว่าปกติ  ส่วน calcium oxalate จะพบในกรณีที่ปัสสาวะมีความเป็นกรดมากกว่า struvite

          พบได้ทั้งสองเพศ โดยในเพศผู้มักพบเป็นนิ่วชนิดตะกอนทราย ซึ่งมักทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อปัสสาวะส่วนปลายได้ง่าย ขั้นต้นแมวอาจจะมีอาการเบ่งปัสสาวะ เลียอวัยวะเพศบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปนเช่นเดียวกับ FIC แต่ต่อมาอาจเริ่มมีการอุดตัน ปัสสาวะไม่ออก มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมากจนเกิดการไหลย้อนกลับไปที่ไตทำให้เกิดภาวะไตวาย หากไม่รีบแก้ไขแมวอาจเสียชีวิตภายใน 1-2 วันหลังมีการอุดตัน

          ส่วนในกรณีของเพศเมียมักไม่ค่อยเกิดการอุดตัน แต่มักเกิดเป็นนิ่วขนาดใหญ่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งก็จะแสดงอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน สามารถวินิจัยได้จากการ x-ray

          สำหรับการรักษาอาจทำได้โดยอาศัยการจัดการด้านอาหาร การดูแล ไปจนถึงการรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ขึ้นกับระยะของโรคและชนิดของนิ่ว สัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
ท่อปัสสาวะอุดตัน (Urethral blockage or obstruction)
          มักพบในเพศผู้มากกว่าเนื่องจากมีท่อปัสสาวะที่ยาว และแคบ โดยเกิดจากการที่มีเมือกหรือตะกอนจากปัสสาวะมาสะสมบริเวณท่อปัสสาวะส่วนปลาย จนเกิดการอุดตัน ซึ่งถ้าเกิดการอุดตันจนแมวไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ จะทำให้เกิดอันตรายจากการที่มีปัสสาวะคั่งค้างจนล้น และไหลย้อนไปที่ไตจนเกิดภาวะไตวาย ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขแมวมักเสียชีวิตจากภาวะไตล้มเหลวภายใน 24-48 ชม.หลังจากเริ่มมีการอุดตัน

          อาการเริ่มต้นคือ เข้ากระบะทรายบ่อยมาก นั่งเบ่งปัสสาวะนาน แต่ปัสสาวะออกมาได้น้อยหรือไม่มีเลย แมวบางตัวอาจแสดงอาการกระวนกระวายหรือร้องครางขณะนั่งปัสสาวะ เมื่อพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ หากตรวจพบว่ามีการอุดตัน สัตวแพทย์อาจต้องทำการสวนท่อปัสสาวะเพื่อดันให้สิ่งที่อุดตันอยู่หลุดออกไป หลังจากระบายปัสสาวะออกมาได้แล้วจึงทำการแก้ไขภาวะต่างๆตามความหนักเบาของ อาการ

          ในรายที่เกิดปัญหาบ่อยหรือท่อปัสสาวะเริ่มตีบแคบมากขึ้น สัตวแพทย์อาจพิจารณาแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขขยายท่อปัสสาวะ เพื่อให้ท่อปัสสาวะกว้างขึ้น และลดโอกาสการอุดตันในอนาคต
เจ้าของสัตว์จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ?

เนื่องจากภาวะ FLUTD มักเกิดขึ้นได้ใหม่ การจัดการด้านการดูแล และอาหารจะมีส่วนในการช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นใหม่ได้ ดังนี้
  • แบ่งให้อาหารเป็นมื้อย่อยๆหลายๆมื้อในแต่ละวัน
  • ตั้งน้ำสะอาดไว้หลายๆจุดทั่วบ้าน หรืออาจตั้งน้ำพุเล็กๆเพื่อเพิ่มความน่ากินของน้ำมากขึ้น
  • หากแมวเคยมีประวัติเป็นนิ่ว struvite มาก่อน ควรเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรที่ช่วยปรับสมดุลปัสสาวะให้เหมาะสม (สัตวแพทย์เป็นผู้แนะนำได้)
  • เพิ่มจำนวนกระบะทรายให้มากพอกับจำนวนแมว โดยอาจมีเท่ากับจำนวนแมวหรือมากกว่าจำนวนแมวหนึ่งกระบะ
  • ตั้งกระบะทรายในมุมที่เงียบ สงบ เพื่อให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับแมว และควรทำความสะอาดสิ่งขับถ่าย และคอยเปลี่ยนทรายให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆรอบตัวแมวโดยไม่จำเป็น

 
 
โรงพยาบาลสัตว์ศรีวรา
1325 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพ 10310
โทรศัพท์ 0-2530-7636-7 แฟกซ์ 0-2530-7633
Copyright © 2011 Sriwara Animal Hospital Co. ,Ltd. All rights reserved.