Exotic pets
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสุนัขและแมว
เนื้องอกและมะเร็ง
ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต
ระบบประสาท
ระบบสืบพันธุ์
โรคกระดูกและข้อ และกายภาพบำบัด
โรคตาในสัตว์เลี้ยง
โรคที่สำคัญในแมว
โรคติดเชื้อที่สำคัญในแมว
โรคระบบทางเดินปัสสาวะในแมว
โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว
โรคพยาธิหัวใจในแมว (Heart Worm Disease in Cats)
โรคเบาหวานในสุนัขและแมว
โรคผิวหนัง
โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคอื่นๆในสัตว์เลี้ยง
อุปกรณ์การแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย
 
โรคติดเชื้อที่สำคัญในแมว
ไข้หัดแมว (Feline distemper,Feline Panleukopenia)
          เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Parvovirus อาการจะรุนแรงมากในลูกแมวและแมวโตที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แมวที่ติดเชื้อจะมีอาการอาเจียน ไข้สูง เบื่ออาหารถ่ายเหลว เมื่อตรวจเลือดจะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวในระดับต่ำผิดปกติเนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง แมวจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะการขาดน้ำอย่างรุนแรง และการติดเชื้อแทรกซ้อน โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายจากการใช้ชามอาหาร-น้ำ กระบะทราย ที่นอนร่วมกัน รวมถึงการอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยแมวจะเริ่มแสดงอาการภายใน 3-5 วันหลังติดเชื้อ

          ยังไม่มีการรักษาเฉพาะที่จะได้ผลแน่นอน โดยทั่วไปจะให้ยาปฏิชีวนะสำหรับคุมการติดเชื้อแทรกซ้อน ร่วมกับการให้สารน้ำสารอาหาร และการรักษาตามอาการ ปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ช่วยในการรักษาได้บ้าง แต่การป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนตามสัตวแพทย์แนะนำจะดีที่สุด

มะเร็งเม็ดโลหิตขาว (Feline Leukemia)
          เกิดจากไวรัสมะเร็งเม็ดโลหิตขาว (feline leukemia virus) ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดโลหิตขาว และเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องได้คล้ายกับแมวที่ติดเชื้อ FIV หรือเอดส์แมว มีระยะฟักตัวนาน แมวส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการป่วยชัดเจนภายใน 3 ปีหลังได้รับเชื้อ พบได้บ่อยในแมวอายุ 1-3 ปี

          การติดต่อเกิดจากการคลุกคลีกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานจากแมวที่เป็นโรค เช่น ใช้ชามน้ำ และอาหารร่วมกัน เลียตัวหรือแต่งตัวให้กัน เพราะเชื้อจะแพร่ผ่านทางน้ำลาย และสิ่งคัดหลั่ง รวมถึงสามารถติดต่อจากแม่ไปยังลูกผ่านทางรกได้ด้วย แต่โรคนี้ไม่ติดต่อกับมนุษย์

          ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้หายขาดจากโรคได้ (เช่นเดียวกับโรคเอดส์ในคน) แต่แมวสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้จากการดูแล และเอาใจใส่ที่ถูกต้องจากเจ้าของ เช่น ไม่ปล่อยไปเที่ยวนอกบ้าน ทำหมันเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังลูก และลดความเครียดจากช่วงการติดสัด พามาตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยชะลอระยะเวลาในการแสดงอาการของโรคได้ และทำให้แมวอายุยืนขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ในส่วนของการรักษาทำได้โดยรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อน และการให้เคมีบำบัดในรายที่เป็นมะเร็ง ปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ช่วยชะลอ และยับยั้งความรุนแรงของโรคได้ ถึงแม้ยังมีราคาค่อนข้างสูง และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน และควรตรวจโรคแมวตัวใหม่ทุกตัวโดยใช้ชุดทดสอบเฉพาะก่อนนำเข้ามาเลี้ยงในบ้าน และก่อนฉีดวัคซีนลิวคีเมีย

โรคหวัดแมว (Feline Influenza / Cat flu)
           เกิดจากเชื้อไวรัส feline herpes virus และ feline calicivirus ทำให้เกิดอาการทางเดินหายใจ และช่องปากอักเสบ บางครั้งทำให้เกิดอาการตาอักเสบเป็นแผลหลุม อาการจะยิ่งมากขึ้นถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Chlamydophila ร่วมด้วย แมวป่วยจะมีอาการจาม น้ำมูกไหล น้ำลายไหลเนื่องจากมีแผลหลุมในช่องปาก ทำให้กินอาหารไม่ได้ ตาแดงหรี่ ตาแฉะเนื่องจากเยื่อตาขาวอักเสบ มีโอกาสเสียชีวิตได้ในลูกแมวอายุน้อยที่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนรุนแรง

           เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายมาก และรวดเร็วเนื่องจากติดต่อทางลมหายใจ อากาศ และทางสิ่งคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย ติดต่อกันได้ในทุกช่วงอายุและอาการจะรุนแรงในลูกแมวอายุน้อย แต่อัตราการตายค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับโรคหัดแมว

          การรักษาทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงการให้สารน้ำ และอื่นๆตามอาการของโรค การป้องกันทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี

โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency virus /FIV)
           เกิดจากเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง แมวที่ติดโรคนี้ในระยะแรกอาจแสดงอาการเพียงแค่มีไข้ ท้องเสีย ต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นอาการอาจหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา และมีสุขภาพที่เป็นปกติอีกต่อไปเป็นปีหรือหลายปีขึ้นกับสุขภาพของแต่ละตัว หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระยะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (feline AIDS) แมวจึงจะเริ่มแสดงอาการป่วยชัดเจน เช่น สุขภาพไม่แข็งแรง ป่วยง่าย ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลด เหงือก และช่องปากอักเสบรุนแรง เป็นหวัดเรื้อรัง ขนหยาบ ผิวหนังอักเสบ ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ในระยะสุดท้ายจะมีการติดเชื้อฉวยโอกาส(opportunistic infection) ซึ่งในระยะนี้แมวมักแทบไม่มีภูมิต้านทานหลงเหลืออยู่เลย และจะเสียชีวิตในที่สุด

           โรคไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดต่อไปยังแมวตัวอื่นจากการกัดกันเป็นหลัก การอยู่ร่วมกันและใช้ชามน้ำอาหาร และกระบะทรายร่วมกันมักไม่ค่อยติดโรค ดังนั้นแมวที่เป็นโรคนี้จึงมักเป็นแมวที่อายุตั้งแต่ 4-5 ปีขึ้นไป และมักเป็นแมวที่ชอบออกเที่ยวนอกบ้าน มีประวัติชอบกัดกับแมวตัวอื่น โรคนี้ไม่สามารถติดต่อไปสู่คนได้ ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถึงแม้จะมียาต้านไวรัสก็ทำได้เพียงบรรเทาอาการป่วย และชะลอระยะเวลาในการเกิดโรค รวมถึงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และช่วยยืดอายุสัตว์ป่วยทำให้มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น เช่นเดียวกับไวรัสลิวคีเมีย

           แมวที่ป่วยเป็นโรคนี้สามารถมีอายุที่ยืนยาว และมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ จากการได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เช่น ควรเลี้ยงให้อยู่แต่ในบ้าน รวมถึงทำหมันเพื่อลดความเครียดจากความต้องการผสมพันธุ์ และออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดโรคแทรกซ้อน และช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค ได้รับอาหารที่มีประโยชน์ (ไม่ควรให้กินอาหารดิบหรืออาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก) นอกจากนี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพจากสัตวแพทย์เป็นประจำรวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ยกเว้นในรายที่ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย เนื่องจากร่างกายจะไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานใดๆได้แล้ว

โรคไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis /FIP)
           เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา (Corona virus) ที่มีการกลายพันธุ์ หรือเกิดกลไกของภูมิค้มกันของร่างกายเป็นตัวกระตุ้น เพราะโดยปกติเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นเพียงเชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียในแมว (enteric coronavirus) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่จะมีเพียง 5-10% ของแมวที่ติดเชื้อนี้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นโรคไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบซึ่งเมื่อแสดงอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตถึง100%

          เชื้อไวรัสนี้จะปะปนออกมามากในน้ำลาย และอุจจาระของแมวที่มีเชื้อ ดังนั้นแมวที่มีความเสี่ยงในการติดโรคจึงมักเป็นแมวที่เลี้ยงรวมกัน ใช้ชามน้ำ และกระบะทรายร่วมกัน นอกจากนี้แม่แมวยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกแมวโดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-8 สัปดาห์

          ส่วนแมวที่จะแสดงอาการป่วย และเสียชีวิตมักเป็นแมวที่ภูมิต้านทานน้อยเช่น ลูกแมว แมวชรา แมวที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว ตลอดจนแมวที่เลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่น แมวที่เป็นโรคสามารถแสดงอาการได้ทุกช่วงอายุแต่ส่วนใหญ่จะอายุไม่เกินสองปีจะเริ่มแสดงอาการแล้วเสียชีวิตในที่สุด ส่วนแมวที่มีภูมิต้านทานที่เหมาะสมและมีสุขภาพแข็งแรงอาจจะเป็นแค่พาหะหรืออาจไม่แสดงอาการของโรคเลยตลอดชีวิต

          โดยอาการของโรคจะแบ่งเป็นสองแบบคือแบบเปียก (wet form) โดยแมวป่วยจะเป็นไข้ตลอด จากนั้นจะเริ่มซึม เบื่ออาหาร ท้องกางมีน้ำในช่องท้อง บางรายอาจมีน้ำสะสมในช่องอกทำให้แมวมีอาการ หอบหายใจลำบาก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แมวที่เริ่มแสดงอาการมักทรุดลง และเสียชีวิตภายใน 1-3 สัปดาห์

          ส่วนแบบแห้ง (dry form) จะมีอาการน้ำหนักลด เป็นไข้ ผอม เบื่ออาหาร บางรายจะพบก้อนฝีหลายก้อนภายในช่องท้อง ไตวาย  มีอาการทางประสาท และเสียชีวิต กรณีของแบบแห้งจะพบได้น้อยกว่าแบบเปียก

          เช่นเดียวกับโรคไวรัสอื่นๆ ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล การรักษาในปัจจุบันทำได้เพียงช่วยยืดอายุ และบรรเทาอาการ โดยใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ และกลุ่มยากดภูมิบางตัวในการช่วยกดปฏิกิริยาการอักเสบของโรค และอาจใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเช่น Feline omega interferon

          สำหรับการป้องกันทำได้โดยรักษาสุขภาพแมวให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเลี้ยงแมวรวมกันหลายตัวในพื้นที่จำกัดซึ่งจะเป็นบ่อเกิดการแพร่เชื้อ และทำให้เกิดความเครียด ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยจากโรคนี้มากขึ้น ควรรักษาความสะอาดของกระบะทราย และแยกบริเวณที่ตั้งของกระบะทราย และชามน้ำและอาหาร นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคได้ โดยทำที่อายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป และควรได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากสัตวแพทย์ เนื่องจากวัคซีนในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพค่อนข้างจำกัด
 
 
โรงพยาบาลสัตว์ศรีวรา
1325 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพ 10310
โทรศัพท์ 0-2530-7636-7 แฟกซ์ 0-2530-7633
Copyright © 2011 Sriwara Animal Hospital Co. ,Ltd. All rights reserved.